torsdag 29. oktober 2015

Inspiring Stories with Magrood

ฮีโร่หญิงคนที่สองของ Inspiring Stories WorldWide วันนี้คุณแม่ลูกสอง จะมาแบ่งปันเรื่องราวทั้งเรื่องลูกและเรื่องงาน ให้แนวคิดที่ดีต่อคนหลายคน และคุณที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว และทำงานไปด้วย พบกับ มะกรูด  กันเลยค่ะ


สวัสดีค่ะ แนะนำตัวนิดนึงนะคะ ว่าเป็นใครเติบโตจากที่ไหน 
สวัสดีค่ะใช้นามแฝงว่ามะกรูดค่ะ ชื่อจริงขอสงวนไว้สำหรับคนใกล้ชิดได้ไหมคะ (ได้อยู่แล้วค่ะ:)) เป็นลูกครึ่งอิสานเหนือค่ะ :-) พ่อเป็นคนร้อยเอ็ดแม่เป็นคนเชียงใหม่ มาสวีเดนครั้งแรกเมื่ออายุ 16 ปี กับโครงการแลกเปลี่ยนทางภาษาและวัฒนธรรมของเอเอฟเอสค่ะ  อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ชาวสวีเดนเป็นเวลา 1 ปีค่ะ แล้วก็กลับไปเรียนต่อที่เมืองไทยจนจบมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นได้เจอเนื้อคู่ชาวสวีเดน และย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ค่ะ

ชีวิตในสวีเดนเป็นยังไงบ้างคะ ในมุมมองของมะกรูด
มะกรูดชอบสังคมและค่านิยมของคนสวีเดน ยิ่งอยู่นานยิ่งรักสวีเดนมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทิ้งสิ่งดีๆ ของคนไทยนะคะ

ภาษาสวีเดนนี่ก็ยากเหมือนกันนะคะสำหรับคนไทย ใช้เวลาวันละกี่ชั่วโมงในการฝึกภาษา
สมัยมาใหม่ๆ ตอนที่ยังเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนมะกรูดเรียนภาษาสวีเดนเกือบทั้งวันค่ะ เรียนทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน  ปัจจุบันนี้เวลาอ่านหนังสือก็จะพยายามอ่านสลับกันคือ อ่านทั้งภาษาไทยและภาษาสวีเดน และพยายามจดตัวอย่างประโยค และตัวอย่างคำศัพท์ในสมุดจดศัพท์ค่ะ

มีข้อแนะนำอะไรบ้างไหมคะ สำหรับคนเริ่มเรียนภาษาที่สอง ที่สาม
ตอบตามประสบการณ์ของตัวเอง ไม่มีหลักวิชาการมาสนับสนุนนะคะ
ก. การออกเสียงสำคัญเป็นอันดับหนึ่งค่ะ เพราะในชีวิตจริง โอกาสที่เราจะต้องสื่อการกันด้วยคำพูดจะมากกว่าการเขียนค่ะ (หากไม่ได้ทำงานเป็นนักแปล หรือนักเขียนนะคะ)

ข. ตอนมะกรูดเรียนหลักภาษา มะกรูดจะเลือกทำความเข้าใจและฝึกฝนหัวข้อที่สำคัญๆ ก่อน แล้วค่อยไปทำความเข้าใจหัวข้อที่สำคัญรองลงมา เช่น เรื่องการเรียงคำในประโยค เรื่องการใช้รูปประโยคที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต ฯลฯ เรื่องการผันคำกริยา การผันคำนาม คำคุณศัพท์ เป็นต้น มะกรูดไม่ได้รู้หลักภาษาทุกอย่าง แต่จะเลือกเรียนเฉพาะส่วนที่จำเป็น

ค. เรื่องภาษา เรียนไปไม่เสียหลายค่ะ เพราะมันคือกุญแจที่เราจะใช้ไขประตูเข้าสู่สังคมสวีเดน

ง. อยากให้นึกถึงการเรียนภาษาสวีเดนว่าเป็นการ เรียนเพื่อให้รู้ และใช้งานได้จริง” ไม่ใช่แค่ได้ใบประกาศ เพราะในการออกไปหางาน หรือทำงานจริงๆ ใบประกาศจะไม่มีความสำคัญเท่ากับ “การรู้และใช้งานภาษาได้จริง” ถ้ามีโอกาสเรียนก็ตั้งใจเรียนเถอะค่ะ ใช้เวลาในการเรียนภาษาที่เขาให้เรียนฟรีอยู่แล้วให้คุ้ม กอบโกยเอาความรู้ให้ได้มากที่สุด คนที่กอบโกยความรู้และฝึกภาษาไว้มากๆ จะได้เปรียบเยอะเลยค่ะ เพราะความรู้ที่ได้มามันไม่บูดไม่เน่า แต่เอาไปใช้ประโยชน์นับตั้งแต่วันที่เราเรียนและรู้ และใช้ประโยชน์ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าคิดเป็นดอกเบี้ยก็ทบต้นทบดอกไม่รู้กี่ตลบ...​คุ้มสุดคุ้มค่ะ... ที่มะกรูดมีอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้แบบไม่ลำบากนัก ก็เพราะตั้งใจเรียนภาษานี่แหละค่ะ


ส่วนตัวชอบและไม่ชอบอะไรในสวีเดนคะ
ชอบค่านิยมของคนสวีเดนค่ะ เช่น 
คนสวีเดนส่วนใหญ่จะบอกว่าเขาไม่นับถือศาสนาอะไร แต่มะกรูดมองว่าระดับศีลธรรมของเขาสูงมาก เช่น เขาช่วยคนเพราะเขาต้องการจะช่วยจากใจจริง ม่ได้ช่วยเพราะหวังผล หรือช่วยเพื่อหวังจะได้บุญ ... มะกรูดมองว่ามันเป็นการให้ที่บริสุทธิ์จริงๆ...​

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เขามักจะไม่เบียดเบียนตัวเอง และไม่เบียดเบียนผู้อื่น การไม่เบียดเบียนตัวเองก็คือเช่น หากเขาไม่ต้องการทำอะไรเพื่อใคร เขาก็ไม่ฝืนใจทำ แต่ถ้าเขาจะทำ แสดงว่าเขาเต็มใจ ...​ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น เขาจะสอนกันมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า “bemöt andra som du själv vill bli bemött” จงปฏิบัติต่อผู้อื่น เหมือนกับที่เธอต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเธอ ซึ่งมะกรูดมองว่ามันเป็นหลักปฏิบัติที่ง่ายมากๆ เพียงแค่เราเอาใจเขามาใส่ใจเราตามคำสอนนี้ เราก็จะลดการเบียดเบียนผู้อื่น (/ทำบาปกรรม) ไปโดยปริยาย

คนสวีเดนเป็นคนชอบอ่านมาก เวลาขึ้นรถเมล์ หรือรถไฟ มักจะเห็นคนพกหนังสือไปอ่านด้วยเสมอ

สิ่งที่มะกรูดไม่ชอบในสวีเดนคือ ระบบการรักษาพยาบาล ที่ต้องรอ รอ รอ แล้วก็รอ แต่ถ้าป่วยหนักจริงๆ หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็ก เขาก็รักษาเต็มที่ รักษาฟรีด้วย (เพราะเขาเรียกเก็บภาษีเยอะมาก แต่ก็คุ้มค่ะ)

มะกรูดเป็นเจ้าของกิจการด้วย มีสินค้าและบริการอะไรบ้างคะ
มะกรูดมีอาชีพหลักเป็นล่ามระหว่างภาษาไทย-สวีเดนค่ะ  บางครั้งก็มีงานสอนนักเรียนล่ามภาษาไทยค่ะ อาชีพเสริมคือเขียนหนังสือ และปรับปรุงหนังสือค่ะ ตอนนี้มีหนังสือ คู่มือสอบใบขับขี่ภาษาไทย” ที่มะกรูดทำการปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ เพราะที่สวีเดนเขาเปลี่ยนกฎหมายบ่อยค่ะ 
หนังสืออีกเล่มคือ ภาษาสวีเดนในชีวิตประจำวันสำหรับคนไทย” ค่ะ


หนังสือสองเล่มนี้มีที่มาที่ไปยังไงคะ ได้แนวคิดและแรงบันดาลใจอะไร ที่ทำให้เริ่มเขียนหนังสือ
โครงการทำหนังสือใบขับขี่ เริ่มขึ้นเพราะมะกรูดต้องหารายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องค่ะ ไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไรเป็นพิเศษเลยค่ะ ทำเป็นอาชีพล้วนๆ ค่ะ ...​ แต่ความพิเศษมันอยู่ที่ว่า ตอนทำหนังสือเล่มนี้ มะกรูดเหมือนทำงานในโรงงานนรก (ที่ตัวเองตั้งขึ้นเอง เป็นผู้จัดการเอง และเป็นลูกจ้างเอง) กล่าวคือ โครงการผลิตหนังสือเล่มแรก กับโครงการผลิตและเลี้ยงดูลูกคนแรก มันมาพร้อมๆ กัน และมันมาพร้อมๆ กันกับโครงการจะสอบเป็นล่ามที่มีใบประกาศรับรองคุณภาพโดยทางการคนแรก โครงการเป็นนักแปลมืออาชีพ ฯลฯ

ดังนั้นกว่าจะทำหนังสือเล่มนี้เสร็จมันโหดมาก มะกรูดทำงานหามรุ่งหามค่ำ ทั้งก่อนท้องลูก ขณะอุ้มท้องลูก และหลังคลอดลูก ... คือหลังคลอดลูกใหม่ๆ มะกรูดนั่งให้นมลูกไปด้วยเขียนหนังสือไปด้วย โดยการเอาหมอนมาหนุนตัวลูกขึ้น ยกขาข้างนึงขึ้นเพื่อให้ได้มุมพอเหมาะที่ลูกจะดูดนมได้เอง เพื่อที่เราจะได้พิมพ์งานไปด้วยพร้อมกับให้นมลูก...บางคืนที่เข้านอน เหนื่อยแทบตาย จนหัวใจมันหวิวๆ และมะกรูดก็สงสัยว่า ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เช้าจะได้ตื่นมาเห็นหน้าลูกไหม... (ขณะที่เขียน มองเห็นว่าตัวเองทำบาปมหันต์กับตัวเอง และกับลูก ... จึงยอมรับสภาพว่า ที่ร่างกายเหนื่อยและล้าในตอนนี้ ไม่ได้มาจากไหนเลย ... มาจากฝีมือเราเองล้วนๆ ... แต่ถ้าถามว่า หากย้อนเวลาได้ จะกลับไปแก้ไขไหม ...​คำตอบคือ ไม่ค่ะ ... สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ  ตอนนี้หน้าที่เราคือ เรียนรู้จากอดีต เพื่อทำปัจจุบันให้ถูกต้อง)

ส่วนหนังสือ"ภาษาสวีเดนในชีวิตประจำวันสำหรับคนไทย" เล่มนี้มะกรูดเริ่มเขียนมานานแล้วค่ะ ตั้งแต่กลับมาสวีเดนอีกครั้งเพื่อมาอยู่ถาวร แต่ทำเป็นหนังสือไม่สำเร็จ เพราะมาค้นพบว่า ขั้นตอนจากการถ่ายทอดจากความคิดไปเป็นหนังสือ มันไม่ได้ง่ายเลย ตอนหลังพอมีประสบการณ์การทำหนังสือใบขับขี่แล้ว จึงได้จับหนังสือเล่มนี้มาปัดฝุ่นและเขียนจนเสร็จค่ะ

เล่าเรื่องงานล่ามให้ฟังหน่อยค่ะ ความยากง่าย กฎเกณฑ์ต่างๆ ของงานในสายนี้
งานล่ามเป็นงานที่มะกรูดรักมากค่ะ มีความสุขที่ได้ทำ และทำแล้วเรารู้สึกว่าตัวเองทำได้ดี ความยากมันอยู่ตรงที่เราจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่เราจะแปลพอสมควร (ยิ่งรู้มากยิ่งแปลง่ายขึ้น) และเราจะต้องแม่นคำศัพท์ เพื่อที่จะได้เรียกใช้ได้ทันค่ะ ความง่ายของงานล่ามอยู่ตรงที่ว่า ขณะที่แปลหากมีคำไหนเราไม่เข้าใจเราสามารถถามผู้พูดได้ทันที (ซึ่งงานแปลเอกสาร เรามักจะไม่มีโอกาสแบบนี้)

อาชีพล่ามเป็นอาชีพที่ไม่ได้ทำให้รวย แต่เราจะมีอิสระ ตอนที่มะกรูดไปสมัครงานล่ามใหม่ๆ เขาไม่รับนะคะ ซึ่งตอนนั้นรู้สึกผิดหวังมาก เพราะเรามั่นใจมากว่าภาษาของเราดี ตอนนั้นอยู่สวีเดนมาแล้วหกเจ็ดปี พูดจาสื่อสารภาษาสวีเดนได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ พูดเรื่องการเมืองได้ พูดเรื่องยากๆ ได้ ตอนสมัครงานนี่มะกรูดเลือกที่จะโทรศัพท์ไปคุย เพราะต้องการให้เขาได้ยินว่าสำเนียงภาษาสวีเดนของเราดี แต่เขาดันบอกว่า ไปเรียนล่ามมาก่อน 3 วิชา แล้วค่อยมาสมัครใหม่”

โห... เศร้าเลย ...

แต่ด้วยความที่ใฝ่ฝันอยากทำงานล่ามมานานแล้ว พอเขาบอกให้ไปเรียน มะกรูดก็เลยไป หลังจากเรียน (เกือบ) จบหลักสูตรหนึ่งปีแล้วก็กลับไปสมัครงานที่เดิม เขาจึงรับ ช่วงนั้นมะกรูดวางแผนว่าจะมีลูกก็เลยต้องวางรากฐานรายได้ให้มั่นคง แผนการของมะกรูดกับพ่อของลูกคือ สอบเอาใบประกาศรับรองคุณภาพให้ได้ เพราะ

# ค่าจ้างจะสูงขึ้นมาก  # มะกรูดจะเป็นล่ามไทยคนแรกที่ได้ใบประกาศรับรองคุณภาพโดยทางการ (auktoriserad tolk) จึงทำให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น มะกรูดจะเลือกทำเฉพาะงานที่จ่ายค่าตอบแทนดีๆ เพื่อจะได้ทำงานน้อยลง และเอาเวลามาให้ลูกแทนการทำงานค่าตอบแทนถูกๆ 

สมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีลูกมะกรูดรับทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าถูกหรือแพงมะกรูดทำหมด เพราะไม่ได้มีต้นทุนอะไรมากมายและเป็นคนบ้างานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่พอมีลูกแล้ว มะกรูดจะคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะได้เป็น “แม่ที่ดี” ด้วยค่ะ ก็ต่อสู้ดิ้นรนจนสอบได้ใบประกาศค่ะ  ทุกวันนี้มะกรูดรู้สึกขอบคุณบริษัทล่ามแห่งนั้น ที่สั่งให้มะกรูดไปเรียนล่าม ... เพราะหากเขารับมะกรูดไปวันนั้น มะกรูดก็คงจะไม่มีวันนี้

อยากฝากถึงคนที่อยากทำงานล่ามว่า ไปเรียนหลักสูตรล่ามเถอะค่ะ มันคุ้มมาก” หลักสูตรนี้นอกจากจะทำให้เราเป็นล่ามอย่างเต็มภาคภูมิแล้ว โอกาสที่จะสอบได้ใบประกาศอย่างมะกรูดยังจะง่ายขึ้นด้วย ... และเราจะเป็นคนที่รู้รอบ และรอบรู้เรื่องสังคมสวีเดนมากๆ ถึงขึ้นที่ว่าบางอย่างเรารู้มากกว่าคนสวีเดนด้วยซ้ำ...


เป็นคุณแม่ลูกสองที่ต้องเลี้ยงลูกและทำงานด้วย  จัดการกับเวลายังไงบ้าง
สมัยที่ลูกคนโตเพิ่งเกิดจนถึงเขาอายุสองขวบครึ่ง มะกรูดจัดการกับเวลาไม่ได้ค่ะ สิ่งที่ทำตอนนั้นคือ เวลาสามีไปทำงาน มะกรูดจะอยู่บ้านเลี้ยงลูกไปด้วย ทำงานไปด้วย พอสามีกลับมาจากทำงาน เราช่วยกันเอาลูกเข้านอน พอลูกหลับแล้วมะกรูดก็เข้าห้องทำงานตอนกลางคืน เสาร์อาทิตย์มะกรูดก็ทำงาน สมัยนั้นจะให้ปริมาณงานเป็นตัวกำหนด คือ ถ้าทำงานไม่ตรงตามเป้าจะไม่เลิกทำ ทำให้เราเบียดเบียนสุขภาพของตัวเอง และเวลาของครอบครัว แต่พอวันหนึ่งตอนลูกคนโตอายุ 2.5 ขวบ และคนเล็ก 1 ขวบ สามีขอเลิก 

เพราะเขาบอกว่าเราช่วยเขาทำงานบ้านไม่ถึงครึ่ง และเขาบอกว่า เธอทำตัวยังกะเป็นแค่พี่เลี้ยงเด็ก” จ๊าก... โดนค่ะ โดนเต็มๆ ... เพราะสิ่งที่เขาพูดมันถูกต้อง มะกรูดก็ไม่ได้เถียง แต่นึกขอบคุณด้วยซ้ำที่เขากระชากสติเรากลับคืนมา ดังนั้นมะกรูดจึงตัดสินใจเลิกทำงานแปลเอกสารราชการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

จากจุดนั้นทำให้มะกรูดเริ่มได้สัมผัสความสุขที่ได้จากการอยู่กับลูก และเริ่มปรับความคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือลูกนะ ไม่ใช่งาน  มะกรูดเลยกลับตัวกลับใจ คิดใหม่ทำใหม่ ขวนขวายหาความรู้  และพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็น “แม่ของลูก” ต้องขอบคุณพ่อของเขาที่กระชากสติมะกรูดกลับมา ทำให้มะกรูดได้เตรียมความพร้อม และได้สัมผัสรสชาติความหอมหวานของ “เวลาดีๆ ที่มีร่วมกันกับลูก” 


มะกรูดมาเริ่มจัดสรรเวลาได้จริงๆ ก็เมื่อหย่ากับพ่อของลูกและมาเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องเลี้ยงลูกเองคนเดียวอาทิตย์เว้นอาทิตย์นี่แหละค่ะ ตอนนั้นลูกคนโตอายุ 4.5 ขวบ และคนเล็ก 3 ขวบ เมื่อเรารู้เวลาชัดเจนว่าลูกจะมาอยู่กับเราตอนไหน และมาอยู่กับเราแค่ 1 อาทิตย์ เราจะเต็มที่กับลูกมาก มะกรูดจะทำงานหนักเวลาที่ลูกไม่อยู่ แต่พอลูกมามะกรูดจะให้เวลาเขาเต็มที่ ... วิธีนี้เป็นการบังคับให้มะกรูดต้องพักผ่อนไปในตัว ... เพราะเวลาลูกมามักจะหลับตั้งแต่สองสามทุ่มพร้อมลูก ... มีความสุขกับวิถีชีวิตแบบนี้มากค่ะ เพราะงานเป็นงาน เล่นเป็นเล่น พักเป็นพัก ...​ สถานการณ์มันบังคับให้เราต้อง อยู่กับปัจจุบัน” มากขึ้น

ดังนั้นเวลาที่มีปัญหาเรื่องงานตอนอาทิตย์ที่ลูกมาอยู่กับมะกรูด มะกรูดจะเครียดเป็นสองสามเท่า ...​ เพราะมะกรูดจะห่วงหน้าพะวงหลัง เพราะเรารู้สึกตลอดว่า ทุกนาทีที่เราต้องแย่งจากลูกมาเพื่อมาเคลียร์งานด่วนจะเป็นความสูญเสียของมะกรูดกับลูกๆ (ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคนละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือ ที่ต้องจัดการเร่งด่วน ... งานล่ามไม่มีปัญหา) ตอนนี้ก็คิดๆ หาทางออกอยู่ค่ะ เพราะมะกรูดไม่ชอบอยู่ในสภาพทุกข์แบบเดิมซ้ำๆ ... หากเวลาผ่านไปเป็นปีแล้วมันยังไม่หาย แสดงว่าวิธีที่ทำอยู่มันไม่เหมาะ ก็ต้องหาวิธีใหม่...

สมัยก่อนพ่อของเด็กเคยบอกว่า ลองจดไว้สิว่าทำงานเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง แล้วก็พัก ไม่ต้องทำเกินจากนั้น มะกรูดก็แย้งในใจว่า ก็งานมันไม่เสร็จ จะพักได้ยังไงล่ะ” แต่ตอนนี้อยู่คนเดียว มะกรูดเอาคำแนะนำของเขามาใช้นะคะ คือ ให้ “เวลากำหนดงานค่ะ”  ทำเท่าที่ไหว เหนื่อยก็พัก หนักก็ไปนอนกลางวัน ... เสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ... ดังนั้น คงมีหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากวิถีชีวิตใหม่ของมะกรูด เช่น มะกรูดส่งหนังสือช้ากว่าเมื่อก่อน  หรือมะกรูดไม่ได้ตอบเมล์ หรือถ้าตอบก็ตอบช้ามาก หรือบางทีลูกค้าโทรมาคุยอยู่ดีๆ ลูกๆ ของมะกรูดเกิดทะเลาะกัน มะกรูดก็ขอวางสายไปก่อนซะงั้น ... ก็ต้องขออภัย และขอความเห็นใจมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ  ไม่ได้รังเกียจใครเป็นการส่วนตัว หรือไม่ได้หยิ่ง ...​ แต่แค่อยากผันตัวเองจากการเป็น “คนของสังคม” มาเป็น “แม่ของลูก” เท่านั้นเองค่ะ ...​เพราะเราก็ไม่รู้ว่าจะอยู่กับเขาไปได้นานแค่ไหน




เวลาเหนื่อย เวลาท้อ บอกกับตัวเองยังไงคะ
มียาหลายขนานมากค่ะ มีตั้งแต่
# พูดคุย ปรึกษาคนใกล้ตัว คุยกับแฟน คุยกับแม่  ทุกวันนี้จะโทรหาแม่บ่อยค่ะ และก็เล่าระบายให้แม่ฟัง แม่ก็รับฟัง ถ้ามีโอกาสก็คุยกับเพื่อน แต่จะพยายามไม่ปรับทุกข์ซ้ำซาก เพราะมันจะทำให้จิตใจขุ่นมัวไปเปล่าๆ
# ฟังบรรยายธรรม
# อ่านหนังสือธรรมะ
# พยายามตั้งสติ และก็ใช้คาถาลับของมะกรูดคือ ”บททดสอบ” เมื่อมะกรูดมีสติมากพอจนสามารถนึกถึงคำๆ นี้ได้ มะกรูดก็จะคิดว่า นี่คือบททดสอบอีกอย่างนึง ที่เขาส่งมาให้เราได้ฝึก (ปฏิบัติ)” พอนึกถึงคำนี้ได้ มะกรูดจะสงบลงมากค่ะ
# ระหว่างที่ไม่มีปัญหาอะไรก็จะพยายามฝึกสติในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะได้เรียกใช้งานได้ง่ายขึ้นเมื่อถึงคราวจำเป็น แต่ไม่ได้นั่งสมาธินะคะ แค่ตามดู ตามรู้กาย และความคิดของเราเท่านั้น

มีจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตตอนไหน เราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นั้นๆ
 มีหลายครั้งค่ะ จุดเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตน่าจะเป็นตอนที่เจอมรสุมลูกใหญ่ที่สุดในชีวิตเมื่อสองปีก่อนตอนที่แยกทางกับพ่อของลูกๆ แล้วเขาส่งแบบทดสอบมาให้เป็นระยะๆ จึงทำให้มะกรูดเบื่อกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีสิ่งมากระทบ ทุกข์จนเหนื่อย ทุกข์จนเบื่อ ทุกข์จนปวดท้องคลื่นใส้อยากอาเจียน เลยเริ่มคิดว่า มันต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว ... เพราะความที่ตัวเองไม่เคยคิดหรือยอมให้ตัวเองเป็นเหยื่อ จึงเชื่ออยู่เสมอว่า เราต้องหา "ทางออก" จากภาวะที่ไม่พึงประสงค์ ภาวะที่เราทนไม่ได้ หรือไม่อยากจะทน ...

จึงเริ่มหันมาฟัง มาอ่าน มาศึกษา เพื่อรักษาใจของตัวเอง เพราะรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานทางนี้ไม่ไหว

ทางออกแรกที่มะกรูดค้นพบ เพื่อจัดการกับความทุกข์อันเกิดจากความโกรธ คือการดึงใจให้มาอยู่กับปัจจุบัน ณ เสี้ยววินาทีนั้นๆ เวลาที่มีแบบทดสอบส่งมา ใจมะกรูดก็จะเร่าร้อนตาม จะโกรธ จะเศร้า จะทุกข์ จะสงสัยว่าทำไม ทำไม ทำไม และจะคิดต่อว่าจะทำยังไงต่อไป เพื่อตอบโต้ แต่ ตอนนั้นมะกรูดพยายามดึงตัวเองให้มาอยู่กับปัจจุบัน ณ เสี้ยววินาทีนั้นๆ ปรากฎว่าได้ผลค่ะ... เพราะความคิดเรามั่นยุ่งอยู่กับการอยู่กับปัจจุบัน ...ทำให้ไม่มีช่องว่างให้ไปคิดต่อ... เราก็ไม่ทุกข์ต่อ ตอนหลัง (ณ ขณะที่เขียน) จึงมารู้ว่า “ความพยายามดึงตัวเองให้มาอยู่กับปัจจุบัน ณ เสี้ยววินาทีนั้นๆ” ที่มะกรูดเคยใช้เป็นทางออก เขาเรียกว่า “การมีสติอยู่กับปัจจุบัน” ช่วงนี้ก็เลยพยายามฝึกมีสติกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันค่ะ

จุดเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งคือ ตอนที่มะกรูดได้พบกับเจ้าของโรงพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือให้มะกรูด เมื่อตอนช่วงซัมเมอร์ ปี ค.ศ. 2014 ซึ่งท่านเป็นสัตวแพทย์ที่สนใจเรื่องการพัฒนาตนทางด้านจิตวิญญาณ 
คุณหมอได้ยกภูเขาลูกโตที่มะกรูดแบกมาเป็นเวลาห้าปีออกจากอกของมะกรูดโดยสิ้นเชิง ด้วยประโยคๆ เดียวคือ "คุณกำลังปลูกลูกมะม่วงอยู่นะ ไม่ใช่ปลูกต้นมะม่วง” โอโห... พอได้ยินประโยคนี้แล้ว "ดวงตาเห็นทำ" เลยค่ะ (ยืมประโยคพระท่านหนึ่งมา) คือดวงตาเห็น แล้วทำตามเลยค่ะ เพราะก่อนหน้านั้นมะกรูดพยายามมากในการที่จะเลี้ยงลูกเพื่อเตรียมความพร้อมให้เขามีความสุขกับชีวิต

มะกรูดคิดว่าลูกจะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้ลูกมีความสุขกับอาชีพที่ลูกเลือก กับสิ่งที่ลูกทำ และกับสิ่งที่ลูกเป็น ฟังดูดีเนาะ ... แต่เครียดมากเลยค่ะ คือมะกรูดมองเห็นแต่ผลมะม่วงตลอด ไม่ว่าจะทำอะไรที่เกี่ยวกับลูกจะคิดตลอดว่า เอ ทำอย่างนี้แล้วผลจะเป็นยังไง  มันจะทำให้เขาเป็นคนดีไหม มันจะทำให้เขามีความสุขไหม  คือไม่ได้อยู่กับปัจจุบันเลย คิดถึงแต่อนาคตตลอด

เวลาต้องไปทำงานต่างจังหวัด บางครั้งมะกรูดต้องวานเพื่อนๆ ไปรับลูกๆ แทน และฝากเลี้ยงสองสามชั่วโมง มะกรูดก็จะรู้สึกผิดกับลูกมาก เพราะคิดว่าจริงๆ ลูกเขาอยากจะใกล้ชิดกับแม่มากกว่า  แน่ะ ไปคิดแทนเขาอีก  ตอนหลังปรากฎว่าลูกๆ แฮปปี้มากเลยเวลามีพี่ๆ ไปรับ แม่เลยเข้าใจว่า "อย่าสำคัญตนผิดนะคะคุณแม่" ซัมเมอร์นั้นมะกรูดได้ปลดปล่อยตัวเองออกจากความทุกข์สองอย่างคือ

๑. เรื่องลูก มะกรูดเริ่มเข้าใจว่า "ลูกไม่ใช่สมบัติของเรา เขามีชีวิตของเขาเอง" ในบางศาสนาลูกคือกองทุกข์ด้วยซ้ำ แต่เมื่อเราตั้งใจมีเขาแล้ว ให้ถือว่าเขามาเป็นครูของเรา เขามาสอนให้เรา  #ฝึกความอดทน ลดโทสะ # ฝึกปล่อยวาง ซึ่งในที่นี้หมายความว่า “ให้ทำเหตุให้ดี และปล่อยวางกับผลที่จะเกิดขึ้น" เหตุที่ดีคือ 

ใส่ธรรมะและคุณธรรมให้เขาเป็นอันดับหนึ่ง ให้ปลูกต้นมะม่วงแทนการปลูกผลมะม่วงอย่างที่เคยทำมา หากรักลูกจริง ให้ทุ่มเทเวลาให้กับการปลูกฝังธรรมะ และคุณธรรมให้เขา เพราะเมื่อมีคุณธรรมแล้ว เขาจะค้นพบความสุขในชีวิตเอง


๒. เรื่องงาน ก่อนหน้านี้มะกรูดสับสนมาก ว่าถ้าเราสนใจที่จะอยู่อย่างสงบ เราจะทำงานได้หรือ เพราะการทำธุรกิจ มันย่อมมีการแข่งขัน มีการแย่งชิงความเป็นต่อทางธุรกิจ  จึงได้ปรึกษาน้องยุ้ยแห่งลุนด์ เพื่อนแม่ชีเจ้ย น้องยุ้ยก็แนะนำให้ฟังท่านพุทธทาส และสรุปได้ความว่า  “การทำงาน คือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ” ประกอบกับคำสอนของลุงเขยที่สอนหลักง่ายๆ ในการวัดใจตัวเองว่าทำงานอย่างถูกต้องหรือเปล่าคือ "ให้ทำงานโดยใช้สติปัญญา ไม่ใช้ตัณหาเป็นตัวกำหนด การทำงานอย่างการปฏิบัติธรรม จะมอบความร่มเย็นแก่ใจ การทำงานด้วยตัณหาจะก่อให้เกิดความเร่าร้อนในใจ ทั้งในขณะที่ทำ และเมื่อทำไปแล้ว" 

เรื่องงานมะกรูดก็มีหลุดบ้างค่ะ (หลุดบ่อยด้วย) โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือของมะกรูด  ด้วยความที่เรายังยึดติดกับความเป็นตัวกูของกู ตรงนี้ทำให้เครียดพอสมควรค่ะ เพราะมะกรูดมักจะคิดอะไรหลายๆ ด้าน เช่น มองในแง่ธุรกิจ เรามีสิทธิ์รักษาผลประโยชน์ของเราที่เราทำมาด้วยความยากลำบากอย่างเต็มที่ แต่ถ้ามองในแง่จิตใจแล้ว มะกรูดก็ไม่อยากจะต่อเวรต่อกรรมกันไปถึงชาติอื่น ... 
ตอนนี้ก็ยังหาจุดที่ลงตัวไม่ได้ค่ะ ... เป้าหมายของมะกรูดคือ จะทำยังไง ให้ใจเราไม่ทุกข์กับสิ่งที่มากระทบ ...


ชอบอ่านหนังสือประเภทไหน
เวลาว่างจะชอบอ่านหนังสือเรื่องการเลี้ยงลูก จิตวิทยา หนังสือธรรมะแบบชาวบ้านๆ ง่ายๆ ค่ะ

เวลาอ่านหนังสือเริ่มอ่านหน้าไหนของหนังสือ
อ่านข้อความที่ปกหลัง แล้วก็อ่านสารบัญค่ะ แต่มะกรูดเป็นคนอ่านหนังสือไม่ค่อยจบเล่มนะคะ และก็อ่านหลายเล่มพร้อมกัน แล้วแต่อารมณ์และความจำเป็น ณ ขณะนั้นๆ ว่าต้องการเรียนรู้เรื่องอะไร

อะไรคือการพักผ่อนของมะกรูด
# การพักผ่อนที่หรูที่สุดของมะกรูดคือ การได้นอนอ่านหนังสือสบายๆ ไม่มีอะไรมารบกวน
# การนอนกลางวัน มะกรูดถือว่าเป็นความมั่งคั่งสูงสุดของชีวิตเลยค่ะ
# การไปร้านเบเกอรี่เจ้าโปรด นั่งกินขนมโปรดคนเดียวหรือไปกับเพื่อน
# ถ้าจังหวะเหมาะคือ มีร้านนวดที่มีเวลาว่างตรงกันกับมะกรูด ก็จะไปนวดค่ะ
# การกินข้าวกับเพื่อน

ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มีผู้คนใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตกี่คน ที่ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ
นับยากจังเลย เพราะงานล่ามและงานขายหนังสือทำให้ได้ติดต่อกับคนเยอะ แต่สรุปก็คือ มะกรูดได้เรียนรู้ว่า “เรายังสอบตกอยู่เยอะ และบ่อยด้วย” แต่ถ้านับเฉพาะชีวิตส่วนตัว ก็คือ ได้เรียนรู้เรื่อง มหัศจรรย์แห่งการสื่อสาร” จากแฟน เพราะสมัยก่อนมะกรูดเป็นคนไม่ชอบพูดแสดงความรู้สึกไม่ดีออกมาด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ จนกลายเป็นการเก็บและกด จนมันล้น เหมือนเขื่อนแตก พอแตกแล้วมันก็เอาคืนให้เหมือนเดิมไม่ได้ ประมาณนั้นค่ะ จนเสียเพื่อนไปคนนึง และเสียอดีตคนรักไปสอง แต่ทุกอย่างมันก็เป็นไปตามธรรมชาติคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป ... มันขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะ รู้ตาม” แล้วใช้เป็นบทเรียน หรือจะให้มันผ่านไปเฉยๆ

ปัจจุบันมีอะไรมะกรูดก็จะพูดค่อนข้างจะทันที และเวลามีคนปรึกษาอะไร ประโยคยอดฮิตของมะกรูดก็คือ บอกเขาหรือยัง ถ้าไม่บอกเขาจะรู้ได้ยังไง” :-) และ “ที่พูดนี่ เพราะเราเคยทำผิดพลาดมาแล้วไง เลยไม่อยากให้เพื่อนต้องเดินตามเรา”

Hobby กิจกรรมพิเศษ
ทำงานฝีมือกับลูกค่ะ  เล่นเกมกระดานกับลูก  พาลูกๆ เขียนหนังสือทำมือ (ฟังดูหรู แต่จริงๆ แค่เอากระดาษเอสี่มาพับครึ่ง ใช้ที่เย็บกระดาษเย็บ ก็กลายเป็นหนังสือทำมือของครอบครัวเราแล้วค่ะ) เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมาเด็กๆ  เสนอมาว่าถ้าเขาทำกิจวัตรตอนเย็นเสร็จก่อนหนึ่งทุ่ม เราจะนั่งเล่นเกมกันจนถึงสองทุ่ม แล้วค่อยอ่านนิทานก่อนนอน แต่ถ้าเสร็จช้าก็จะมีเวลาเล่นกับแม่น้อยลง เขาเสนอมา แม่ก็เลยสนองไปค่ะ บางครั้งก็จะออกเดทกับลูกทีละคน จะได้มีเวลาสองต่อสองกันบ้าง (เคยไปเป็นล่ามมา  เจ้าหน้าที่เขาแนะนำหลายๆ คนว่า ให้หาเวลาทำอะไรกับลูกแต่ละคนโดยลำพังบ้าง มะกรูดก็เลยลองทำตามค่ะ) ซึ่งส่วนใหญ่เราจะไปกินขนมที่ร้านโปรดกันค่ะ

 Idol บุคคลต้นแบบในดวงใจ
มีหลายคนค่ะ เพราะมะกรูดคิดว่าคนทุกคนเป็นครูเราได้ทั้งนั้น ขอยกมาบางคนเท่านั้นนะคะ เกรงพื้นที่จะไม่พอ
# พ่อ...เป็นแบบอย่างเรื่อง ความอ่อนน้อมถ่อมตน
ย่า...เป็นแบบอย่างเรื่อง ความร่าเริง อารมณ์ดี (โหมดนี้มะกรูดมีไม่บ่อยเท่าไหร่)
ยาย...เป็นแบบอย่างเรื่อง การขวนขวายหาความรู้
แม่...เป็นแบบอย่างเรื่อง การพึ่งตัวเอง การทำธุรกิจ แม่เคยสอนมะกรูดว่า “เห็นใครทำอะไรให้เข้าไปช่วย จะได้มีวิชาติดตัว เวลาผัวทิ้งจะได้เลี้ยงตัวเองได้”
อา...เป็นแบบอย่างเรื่อง การยิ้มรับกับทุกสถานการณ์
แฟน...​เป็นแบบอย่างเรื่อง การเลี้ยงลูกด้วยความเคารพในสิทธิ์ของเขา
พ่อแม่ชาวสวีเดน...เป็นแบบอย่างเรื่อง ความดีอันบริสุทธิ์
น้องสาวน้องชาย... เป็นแบบอย่างเรื่อง การรักพี่รักน้อง และการหาความสุขใส่ตัวหลังจากการทำงานหนัก
# พี่ชาย... เป็นแบบอย่างเรื่อง การเลี้ยงลูกด้วยความใจเย็น
ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ... เป็นแบบอย่างเรื่อง อารมณ์ขัน และการมองทุกอย่างในแง่บวก
แม่ชีเจ้ย... เป็นแบบอย่างเรื่องศรัทธา
ชบา... เป็นแบบอย่างเรื่อง เพื่อนที่ดี
ลูกๆ... เป็นแบบอย่างเรื่อง ชะโงกดูเงา” ของตัวเองบ้างนะแม่นะ ... เพราะลูกคือกระจกสะท้อนตัวตนของพ่อแม่  ทำให้มะกรูดมองลูก แล้วก็ย้อนกลับมาดูตัวเอง  จึงค้นพบหลายๆ อย่างเกี่ยวกับตัวเอง ที่ไม่เคยรู้มาก่อน และทำให้เข้าใจตัวเองและลูกมากขึ้น มะกรูดจำได้ว่านักจิตวิทยาเด็กท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า ลูกจะทำให้เธออยู่กับปัจจุบัน และเขาจะทำให้เธอรับรู้ว่า เธอมีค่าคู่ควรที่จะได้รับความรักโดยไม่มีเงื่อนไข” ณ วันนี้สิ่งมหัศจรรย์น้อยๆ สองคนได้สร้างปาฏิหารย์ให้เกิดขึ้นกับชีวิตแม่แล้ว ... ลูกทำให้แม่เป็นคนเต็มคน ...


 อะไรที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำในตอนนี้
# หากเวลาและโอกาสอำนวย ก็อยากจะเขียนหนังสือเด็ก สำหรับเด็กลูกครึ่ง หรือเด็กไทยในสวีเดน หนังสือแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง และหนังสือกฎหมายสวีเดนในชีวิตประจำวัน สำหรับคนไทย (แต่อยากจะไปเรียนกฎหมายเพิ่มเติมก่อนค่ะ เพราะคิดว่าวิชากฎหมายสำหรับล่ามที่เรียนมายังไม่เพียงพอ) แต่มะกรูดเป็นคุณนายร้อยโปรเจ็กต์ค่ะ  มีโครงการในหัวมากมาย แต่ทำช้ามาก

# อยากขยันฝึกสติเป็นประจำ เพราะช่วงหลังๆ มานี่ มีโอกาสได้เห็นประโยชน์ของการมีสติบ่อยขึ้นค่ะ ทั้งในแง่การทำงาน ในแง่ความสัมพันธ์กับคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแฟน เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ฯลฯ  และในแง่การเลี้ยงลูก

อยากฝากอะไรถึงผู้อ่านบ้าง
คือว่า ชีวิตมะกรูดผ่านมรสุมมามากมาย และสิ่งที่มะกรูดอยากจะฝาก ไม่ใช่ของฝากจากผู้ที่รู้ดีกว่านะคะ 
แต่เป็นของฝากจากเพื่อนร่วมทุกข์ที่เคยผ่านความทุกข์แบบนั้นมาแล้ว และสิ่งที่ช่วยให้มะกรูดรอดมาได้คือ

# ความคิด ... คิดบวกเข้าไว้ คิดดีเข้าไว้ ... แล้วสิ่งดีๆ จะเข้ามาในชีวิต สำหรับมะกรูดจะคิดว่า ข้าคือผู้รอด” ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็น “เหยื่อ” และมะกรูดคิดว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เรามีสิทธิ์ที่จะกำหนดความคิดของเรา ให้เราทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไปกับมัน

# ขอบคุณ ... มะกรูดจะรู้สึกขอบคุณอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการขอบคุณครูบาอาจารย์  ขอบคุณลูกค้าผู้มีพระคุณ  ขอบคุณคนที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต  ขอบคุณชีวิตและสิ่งที่เรามีในชีวิตที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำประโยชน์ให้คนอื่นด้วย นอกเหนือจากการทำประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว

# ยอมรับ ... ยอมรับข้อดีข้อด้อยของตัวเอง  แล้วเราจะอยู่อย่างมีความสุขและเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น

# รู้ตัว ... ว่าที่พูดๆ มาข้างต้นนี้ ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ไม่เสียหายอะไรที่จะมี แผนที่” เอาไว้ อย่างน้อยคนอื่นที่เห็น เขาก็อาจจะได้ประโยชน์จากแผนที่ที่เราบรรจงวาด ...​หรือหากตัวเราเองเดินออกนอกลู่นอกทาง เราก็จะได้รู้ตัว และมีโอกาสเดินใหม่ให้ถูกต้องมากขึ้น

# ให้อภัย ... ทั้งตัวเอง และคนอื่น แต่การให้อภัยของมะกรูดไม่ได้แปลว่าต้องกลับไปยืนจุดเดิมที่เคยยืนเสมอ เช่น เราให้อภัยอดีตคนรัก เพื่อปลดปล่อยทั้งตัวเราและเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องกลับไปคบกับเขาอีก เป็นต้น


ขอบคุณค่ะ มะกรูด ที่แบ่งปันประสบการณ์และเรื่องราวดีๆ ข้อคิดดีๆ ให้เราได้คิด ได้เรียนรู้ ดวงตาเห็นทำ

อยากฟังเรื่องราวของใครต่อจากนี้ อยากฟังของหลายคน แต่ขอเลือก แม่ชีเจ้ยนะคะ

------------------------

2 kommentarer: